เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด![]() "เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด" เป็นความเรียงเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่วัยรุ่นต้องพบเจอ แปลมาจากภาษาเกาหลีที่ชื่อ 아프니까 청춘이다 (อ่านไม่ออก) เขียนโดย คิมรันโด ผู้เขียนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยโซล นำประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตของตนเอง ความคิด ความเข้าใจที่ผ่านจากการอ่าน รวมทั้งบทเรียนชีวิตของลูกศิษย์ หรือคนมีชื่อเสียง มาเรียบเรียงให้อ่านง่ายเป็นบทสั้นๆ สะท้อนแง่มุมต่างๆ ของการใช้ชีวิตวัยรุ่น ดูจากเนื้อหาก็ไม่น่าจะมีอะไรแปลกใหม่ แต่เมื่อได้ลองอ่านแล้ว เราคิดว่าคนแปลและบรรณาธิการทำงานได้เนี้ยบมาก อ่านแล้วไม่มีสะดุด ที่สำคัญก็คือ การวิเคราะห์เรื่องราว ความคิด ความรู้สึกของเด็กวัยรุ่นได้อย่างเข้าใจและหลายมิติ ผู้เขียนให้ความเห็นว่า สิ่งที่คนหนุ่มสาวขาดไป ไม่ใช่ความสามารถ แต่คือการทบทวนตัวเอง และสิ่งที่สำคัญคือประสบการณ์ นั่นคือต้องลงมือทำจริง ต้องอ่านหนังสือ ต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต้องออกไปท่องเที่ยว ชอบตอนนึงที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว คิมมินจูผู้บริหารองค์กรรีดแอนด์ลีดเดอร์เคยกล่าวไว้ว่า "การท่องเที่ยวเป็นประสบการณ์แห่งความตาย" เพราะถ้าออกไปท่องเที่ยวแล้วจะ "ไม่มีฉัน" ในที่ที่เคยอยู่ การท่องเที่ยวจึงเป็นช่วงเวลาที่ดี ซึ่งทำให้เราได้คิดทบทวนลำพังว่า การหายไปของตัวเองมีความหมายอย่างไรบ้างกับคนที่รู้จักเราและสังคมรอบข้าง (หน้า 53) "เราไม่ควรนำประสบการณ์ที่เรียนรู้จากยุคสมัยของตัวเอง มาเป็นมาตรฐานตัดสินคนอื่น เพราะสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย มีค่านิยม การเลี้ยงดู ปัจจัยการเรียนรู้ และเป้าหมายในการทำงาน แตกต่างกันออกไป" (หน้า 232) พอเปิดย้อนกลับไปที่หน้าแรกตอนที่อ่านจบ ปรากฎว่าเราไฮไลต์ประโยคไว้เยอะมาก ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็คือหัวใจของผู้เขียนที่อยากจะสื่อสารกับคนอ่าน เรื่องที่ผู้เขียนต้องการย้ำหนักย้ำหนาในหนังสือเล่มนี้ เท่าที่เรารู้สึกก็คือ การมีความฝันและกอดความฝันนั้นไว้ และการทำผิดพลาดดีกว่าการไม่ลงมือทำอะไรเลย เราว่าสองประเด็นนี้แหละที่ทำให้เราประทับใจความคิดของผู้เขียนเป็นอย่างมาก จริงๆ หนังสือเล่มนี้ก็ไม่น่าจะมีไว้ให้แค่วัยรุ่น (เด็กมหา'ลัย) อ่านหรอก เราอยากให้เด็กมัธยมได้อ่าน คนที่ทำงานแล้วได้อ่าน เพราะอ่านแล้วได้ทบทวนชีวิตตัวเองทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีหลายๆ ประโยคในหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้เราคิดย้อนกลับไปมองตัวเอง ทั้งในแง่บวกและลบ เราว่าผู้เขียนใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และจิตวิทยา มาเป็นพื้นฐานในการสนับสนุนความคิดของเขาได้อย่างลงตัว ลองยกตัวอย่างที่ชอบมาหนึ่งเรื่อง ซึ่งอยู่ตอนต้นของเล่ม ผู้เขียนลองสมมติว่าชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายมีค่าเท่ากับ 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน แล้วคำนวณว่าตอนนี้ชีวิตของตัวเองน่าจะตรงกับเวลาอะไร ถ้ากำหนดให้อายุขัยอยู่ที่ 80 หลักการคำนวณคือ 1 ปีมีค่าเท่ากับ 18 นาที อย่างเราเดือนหน้าจะอายุ 33 ก็แสดงว่านาฬิกาชีวิตเราจะอยู่ที่เวลา 9 โมง 9 นาที อ๊ะเลขดีจังเลย แต่ความหมายลึกๆ ที่ซ่อนอยู่คือ มันเป็นช่วงวัยของการทำงานไง (คนปกติทั่วไปจะเข้างาน 9 โมงกันใช่ไหม แต่ของเรา 10 โมงกว่าๆ ^^") เพราะฉะนั้นแปลว่า สิ่งสำคัญในตอนนี้ก็คือ การทำงาน งาน งาน ส่วนบทที่ชอบที่สุดคือ วิธีใช้ "คาร์เพ เดียม" (Carpe diem) ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Dead Poets Society ก็คงจะเข้าใจกับความหมายนี้กันแล้ว สำหรับใครที่ยังไม่รู้ มันมาจากภาษาละตินที่มีความหมายประมาณว่า Seize the day ซึ่งก็มีคนตีความแตกต่างกันไป สำหรับผู้เขียน เขาคิดว่า... "ถ้าเราตั้งใจจะใช้ชีวิตโดยยึดหลัก "คาร์เพ เดียม" จะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างลึกซึ้ง แม้ว่าสิ่งที่วาดฝันยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ก็ต้องเชื่อมั่นว่าจะทำให้มันเป็นจริงได้ในสักวันหนึ่ง ความดื่มด่ำเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลินกับปัจจุบัน..." (หน้า 166 - 167) If you don't know where you're going, just go" -Alice in Wonderland |
วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555
เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด !!
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น